วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วัดยางสุทธาราม


วัดยางสุทธาราม
วัดราษฏร์

   วัดยางสุทธาราม เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง แต่จะสร้างขึ้นในสมัยใดใครเป็นผู้สร้าง ยังหาหลักฐานไม่พบจะขอนำเอาข้อความในหนังสือพระราชวิจารณ์ในจดหมายเหตุตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระเจ้าตากมาตั้งกรุงธนบุรี เฉพาะเกี่ยวกับวัดนี้ฯ
ตั้งแต่กรุงเก่าเสียแล้วพระเจ้าตากมาตั้งเมืองธนบุรี...จุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลู ตรีนิศก เวลาสามโมงเช้า ทรงบรรพชาฯ ๔ ทรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี กับ ๔ เดือน ทรงผนวชวันที่ ๔ ฯ พระยาสรรค์รักษาเมืองไว้ เจ้ารามลักษณ์สู้แต่ผู้เดียวโดยโมหาร เหลือแต่กำลังแตกหนีไปอยู่วัดยาง พระวังหลังติดตามจับได้ฯ
หลักฐานบางประการแต่ไม่มีข้อยืนยัน ว่ากันว่า วัดยางสร้างในสมัยกรุงธนบุรี โดยมีสามกรมเป็นผู้สร้าง ประมาณปี พ.ศ.๒๓๑๓ ข้อสังเกตบางประการพอที่จะสรุปได้ว่า วัดยางสุทธารามสร้างในสมัยกรุงธนบุรีก็คือ รูปทรงของโบสถ์มหาอุตม์ พิจารณาให้ดีจะมีรูปแบบที่คล้ายกับศาลเจ้าคือ มีประตูหน้าไม่มีประตูหลัง อีกทั้งไม่มีช่อฟ้าใบระกาหงส์ ศิลปะลายปูนปั้นทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นศิลปะร่วมสมัยที่มีทั้ง ไทย จีน และฝรั่ง ผสมผสานกัน ศิลปะแบบนี้นิยมทำกันในช่วงสมัยปลายอยุธยา โบสถ์แบบมหาอุตม์ สันนิษฐานว่าผู้สร้างเป็นพี่น้องชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย ชักชวนกันก่อสร้างเพื่อเป็นการเสริมบุญบารมีของพระเจ้าตากสินมหาราชฯ
พระประธานในโบสถ์เก่า หรือวิหารในปัจจุบัน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นหน้าตักกว่าประมาณ ๖๙ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่แปลกคือ นิ้วหัวแม่มือไม่จรดติดกัน นิ้วหัวแม่มือขวาจะอยู่สูงกว่าหัวแม่มือซ้าย พระพักตร์อิ่มมีรอยยิ้มที่ประทับใจแก่ผู้มาถวายสักการบูชาหลวงพ่อ การที่จะเห็นรอยยิ้มที่ประทับใจในองค์หลวงพ่อนั้น ต้องขอให้ทุกท่านนั่งและเข้ามาให้ใกล้องค์หลวงพ่อมากที่สุด ถ้ายืนหรือนั่งอยู่ไกลจะสังเกตเห็นว่า พระพักตร์ของหลวงพ่อจะเคร่งขรึมค่อนข้างบึ้งตึง
" หลวงพ่อ" มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น หลวงพ่อโบสถ์เก่า หลวงพ่อดำ หรือหลวงพ่อใหญ่ ในปัจจุบันเรียกชื่อท่านว่า " หลวงพ่อใหญ่" ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อรับรู้กันในเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้เคียงกับวัด ที่ห่างวัดยังไม่ค่อยมีคนทราบถึงความศักดิ์ของหลวงพ่อ ทั้งนี้ เพราะขาดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และไม่ได้มีการเปิดวิหาร ให้สาธุชนทั่วไป ได้เข้าถวายสักการะ ฯ
จากเว็บไซต์ธรรมะไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น