วัดศรีสุดาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหารตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก เลขที่ 83 แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 13 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา
ประวัติความเป็นมา
วัดนี้เดิมเป็นวัดโบราณ ชื่อวัดชีปะขาว หรือวัดชีผ้าขาว บางทีเรียกวัดปะขาวก็มี สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) ซึ่งเป็นพระพี่นางเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์มาแต่ในรัชกาลนั้น ครั้นล่วงมาน้ำได้เซาะตลิ่งพังเข้ามาจนถึงหน้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาขุนมนตรีเป็นแม่กองสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่โดยเลื่อนขึ้นจากที่เดิม ทรงโปรดให้เจ้าพนักงานปักกำหนดเขตรอบโรงพระอุโบสถลงใหม่ใช้แทนวิสุงคามสีมาเดิม โดยให้มีความยาว 15 วา กว้าง 7 วา แล้วโปรดให้ลงเขื่อนหน้าวัด เพื่อป้องกันน้ำเซาะตลิ่งจนเป็นผลสำเร็จ ครั้นการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดศรีสุดาราม ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชอัยยิกาเจ้าของพระองค์ ทรงสถาปนาพระราชทานไว้ตั้งแต่วันจันทร์ขึ้น 1ค่ำ เดือน 12 ปีเถาะ นพศกพุทธศักราช 2410 เป็นปีที่ 15 ในรัชกาล (ปลายรัชกาล) ตามพระราชโองการพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งมีหลักฐานอยู่ในพระอุโบสถ (พระอุโบสถหลังเก่าปรากฏเป็นวิหาร อยู่หน้าพระอุโบสถปัจจุบัน)
บริเวณที่ตั้งวัด
วัดมีเนื้อที่ทั้งหมด 13 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา แบ่งเป็นเขตพุทธาวาส และ สังฆาวาส เฉพาะส่วนที่เป็นธรณีสงฆ์ มีจำนวน 5 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา เมื่อก่อนใช้ศาลาการเปรียญเป็นโรงเรียนชั้นประถมศึกษาวัดศรีสุดาราม สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ครั้นต่อมาได้เปลี่ยนสังกัดไปเป็นโรงเรียนเทศบาลของเทศบาลนครธนบุรีในบัดนี้ได้สร้างอาคารโรงเรียนขึ้นใหม่ด้านหลังพระอุโบสถเมื่อปี พ.ศ. 2506 โดยเงินงบประมาณจำนวน 250,000 บาท ซึ่งยังคงเปิดสอนอยู่ ปัจจุบันนี้เป็นโรงเรียนประถมสังกัดกรุงเทพมหานคร
วัดนี้เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ศึกษาของสุนทรภู่ กวีเอกของโลก เมื่อครั้งเยาว์วัย เพราะท่านได้เขียนไว้ในนิราศสุพรรณ (บทที่ 24) ว่า
วัดปะขาวคราวรุ่นรู้ เรียนเขียน
ทำสูตรสอนเสมียน สมุดน้อย
เดินระวางระวังเวียน หว่างวัดปะขาวเอย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย สวาทห้องกลางสวน
อนึ่ง สุนทรภู่ยังได้เอ่ยถึงวัดนี้อีกในนิราศพระประธม นอกจากนี้กวีโบราณท่านอื่น ๆ เช่น พระบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิทนายมี และ หลวงจักรปราณี (มหาฤกษ์) ก็ได้เคยกล่าวถึงวัดนี้ในเรื่องนิราศต่าง ๆ อีกหลายเรื่อง ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 วัดศรีสุดารามก็ได้รับการทะนุบำรุงอีก ดังปรากฏว่ามีการสร้างสะพานข้ามคลองแบบเก่า ซึ่งมีศาลาไม้หลังเล็ก ๆ คล่อมอยู่กึ่งกลางสะพานที่หน้าจั่วของศาลานั้นจารึกไว้ว่าสร้างเมื่อ ร.ศ. 128 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์อีกเมื่อใดจนกระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบันจึงมีการบูรณะปฏิสังขรณ์และก่อนสร้างเสนาสนะต่าง ๆ อาทิพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ เขื่อนหน้าวัด และ ถาวรวัตถุอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกจำนวนมาก
ปูชนียวัตถุ ถาวรวัตถุ และเสนาเสนาะต่าง ๆ
- พระประธานในพระอุโบสถ ปางปลงพระชนมายุสังขาร ไม่มีพระโมฬี มีแต่พระรัศมีประทับนั่งวางพระหัตถ์ทั้งสองบนพระเพลา หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1คืบ มีพระสาวก 8 8 องค์ นั่งประนมพระหัตถ์เบื้องพระพักตร์พระประธาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสร้างพร้อมกับการสร้างพระอุโบสถ
- พระศรีอารีย์ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 2 ศอก ลักษณะนั่งมารวิชัยพระหัตถ์ซ้าวยวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวา ถือพัด เป็นลักษณะพระสาวก ประดิษฐานอยู่ที่หอไตร
- พระเจดีย์ 5 องค์ อยู่แถวเดียนวกันด้านหลังพระอุโบสถ
- พระปรางค์ 2 องค์ ทรงไทยโบราณ หน้าบันเป็นรูปเทพนม ลานก้านขดมีคันทวยรอบ หน้าต่างเป็นรูปซุ้ม หน้าจั่วเป็นรูปเทพนม ช่อฟ้าใบระกานาคเอี้ยว กระจังติดประดับ
- พระวิหาร เดิมเป็นพระอุโบสถหลังเก่า ดัดแปลงเป็นวิหารมีลักษณะเป็น 8 เหลี่ยม ต่อมาสมเด็จพระมาหสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดให้รื้อแล้วสร้างขี้นใหม่ในลักษณะคล้ายพระอุโบสถ ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันเป็นพาน 2 ชั้น มีรูป "ปิ่น" ประดิษฐานไว้บนพาน หมายถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และ มีพระพุทธรูปปางทรงเครื่องอยู่รวมกันหลายองค์
- หอไตร ก่อด้วยอิฐถือปูน มีระเบียง 4 ด้าน หลังคามุงกระเบื้อง
- ศาลาการเปรียญ สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้ปฏิสังขรณ์ติดต่อกันมาโดยตลอด
- กุฏิสงฆ์ ไม่มีกุฏิถาวร ปัจจุบันทางวัดเริ่มพัฒนาปรับปรุงขึ้นมาตามลำดับด้วยแรงศรัทธาของประชาชน
9. รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบางกอกน้อย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น