การมาพบซากวัด ในเดือนมีนาคม 2532 ได้พบวัดนี่โดยบังเอิญ สภาพที่พบครั้งแรกบริเวณวัดเป็นบึงกว้างใหญ่กลางบึงเป็นพงต้นอ้อขึ้นสูงกว่าที่อื่น ใต้พงอ้อสังเกตเป็นกองอิฐปะปนอยู่ สอบถามจากชาวบ้านทราบว่าเป็นวัดร้างบริเวณพงอ้อนั้นคือซากโบสถ์ ส่วนบริเวณวัดส่วนอื่นได้จมลงไปเกือบจนหมด คงเหลือแต่ซากเจดีย์ริมคลอง ซึ่งจะปรากฏเวลาน้ำลดเท่านั้น ปัจจุบัน กรมการศาสนาเป็นผู้ดูแลวัดนี้และได้ให้ชาวบ้านเช่าทำสวนมา 2 ชั่วคนแล้ว ตามข้อเท็จจริงชาวบ้านไม่สามารถทำสวนมานานแล้ว เพราะน้ำท่วมจึงได้แต่อาสัยที่หน้าบริเวณริมคลองปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัย เมื่อได้เข้าไปสำรวจและแผ้วถางหญ้าบริเวณที่เป็นโบสถ์พบซากโบสถ์มีกองอิฐและกองไม้โครงหลังคาซึ่งหักพังลงมากองทับรวมกันอยู่และเหลือแต่ซากกำแพงบางส่วน ตัวโบสถ์โผล่พ้นน้ำเพียงนิดเดียว ในฤดูน้ำคงท่วมซากโบสถ์เกือบมิด เพราะสังเกตบ้านผู้เช่าวัดปลูกยกพื้นบ้านสูงกว่าระดับที่ตั้งโบสถ์มาก นอกจากซากโบสถ์ยังพบพระพุทธรูปเศียรขาด 3 องค์ ทราบว่าถูกลอบตัดไปนานแล้ว เวลาที่ถูกตัดเป็นเวลากลางคืน ชาวบ้านเล่าว่าในคืนที่พระพุทธรูปถูกลอบตัดเศียรมีลมพายุพัดรุนแรง ฝนตกหนักฟ้าร้องฟ้าผ่าเสียงดังสนั่นหวั่นไหวทั้งคืนเหมือนกับเทพยาดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้แสดงความโกรธกริ้วและโศกสลดต่อการกระทำของมนุษย์ในบาปเหล่านั้น นอกจากนี้จากการสำรวจรอบ ๆ บริเวณโบสถ์ซึ่งไม่กว้างนัก ยังพบใบเสมาที่ทำด้วยหินเกรนิตหนึ่งใบและพบหลุมฝังลูกนิมิตรอบโบสถ์ซึ่งได้ก่อเจดีย์เล็ก ๆ ครอบปิดหลุมไว้ มีสภาพชำรุด ทรุดโทรมาก มีต้นไทรและต้นโพธิ์ขึ้นเต็มทั้งองค์เจดีย์ บริเวณโบสถ์นี้นานมาแล้วเคยถูกมาขอหวยและถูกหวยใต้ดินต่อมาเมื่อไม่ถูกหวยและหมดทุนแทงหวยแล้วสภาพก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้โดยปราศจากผู้ดูแล กลายเป็นสถานที่เด็ก ๆ ในละแวกนี้ใช้เป็นสถานที่ละเล่นต่าง ๆ เช่น ทอยกอง โยนห่วง บางครั้งใช้เศียรพระพุทธรูปเป็นหลักโยนให้ห่วงคล้อง มีการกระโดดข้ามพระพุทธรูปไปมา เป็นที่สนุกสนานโดยไม่คิดอะไรตามภาษาเด็ก ตกเย็น ๆ บางวันก็เป็นสถานที่พบปะของวัยรุ่นหนุ่มคะนอง เพื่อดื่มสุรายาเมา เมื่อเมาได้ที่ก็ใช้กำแพงโบสถ์ทั้งภายในและภายนอกรอบ ๆ บริเวณโบสถ์ เป็นที่ถ่ายหนักถ่ายเบาไปทั่ว บังเกิดความคิดและศรัทธาจะบูรณะฟื้นฟูสภาพซากปรักหักพังขึ้นคืนเป็นวัด เมื่อได้เห็นสภาพวัดร้างและได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับวัดร้างนี้ได้ทำให้เกิดความรู้สึกสลดหดหู่ในเป็นที่สุดไม่นึกเลยว่าใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ สิ่งปลูกสร้างอันเป็นตัวแทนที่ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ พระพุทธศาสนาจะถูกย่ำยีและถูกทอดทิ้ง โดยปราศจากการดูแลถึงขนาดนี้ ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนี้ ในที่สุดซากวัดนี้คงชำรุดทรุดโทรมจมลงใต้น้ำในที่สุด และชื่อวัดเชิงเลน คงจะหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นหลังแน่นอน ความรู้สึกที่ได้รับความกดดันทางจิตใจอย่างยิ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นทำให้เกิดความคิดและความตั้งใจอย่างแรงกล้าว่า จะต้องดำเนินการบูรณะฟื้นฟูสภาพปรักหักพังของวัดนี้ให้คืนสภาพเป็นวัดให้สำเร็จให้จงได้ ทันทีที่เกิดความคิดนี้ได้ปรากฏเหตุมหัศจรรย์ท้องฟ้าที่สว่างไสวอยู่ พลันมืดครึ้มโดยปราศจากเมฆหมอกเกิดกระแสลมเย็นพัดกรรโชกมากระทบร่างกายทำให้เกิดอาการขนลุกซู่ และสบายอย่างประหลาด จึงมีความมั่นใจว่าการบูรณะฟื้นฟูวัดนี้จะต้องสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีแน่ เมื่อได้นำความคิดบูรณะฟื้นฟูวัดเชิงเลนกลับไปปรึกษากับเพื่อนฝูง ญาติโยมและผู้ใหญ่ กับครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือทุกท่านต่างเห็นดีด้วยและจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยได้กำหนดหลักการบูรณะวัดดังกล่าวไว้ 3 ประการคือ
การก่อสร้าง การเริ่มดำเนินการก่อนการบูรณะคือการได้ใช้ความพยายามอยู่หลายเดือนในการติดต่อขอแบ่งเช่าที่ดินซึ่งเป็นบริเวณวัดส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านทิ้งไว้ไม่ใช้เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน จากชาวบ้านที่เช่าอยู่เต็มแล้วจึงได้เจรจาขอทำสัญญากับกรมการศาสนาจนสำเร็จ อุปสรรคที่ตามมาคือ ช่างผู้รับก่อสร้าง เพราะเนื่องจากที่ตั้งวัดเป็นที่ลุ่ม การก่อสร้างยากมาก รอบ ๆ วัดเป็นป่าหญ้าและบึงน้ำมียุงมากมาย การหาอาหารการกินลำบาก ผู้รับเหมาที่ไปดูงานส่วนใหญ่ไม่อยากรับงาน ส่วนผู้ที่รับงานก็เรียกร้องราคาสูงมากสุดจะสู้ราคาไหว จนในที่สุดจึงตัดสินใจหาหัวหน้าช่างผู้หนึ่งมาเป็นผู้รับผิดชอบงานนี้และรับสมัครคนงานเองกับจัดซื้อวัสดุก่อสร้างเอง โดยให้ช่างส่วนหนึ่งปลูกที่อยู่อาศัยในบริเวณวัด อีกส่วนหนึ่งทำงานเช่าไปเย็นกลับ เมื่อได้ช่างแล้วการบูรณะจึงเริ่มขึ้น ระยะเวลาที่เริ่มบูรณะนั้นเป็นช่วงเข้าฤดูฝน จึงลำบากมาก และอยู่ในภาวะที่วัสดุก่อสร้างหายาก โดยเฉพาะเสาคอนกรีตที่จะนำมาตอกเพื่อปูเป็นทางเดินปูนเข้าในบริเวณวัด วัสดุทุกอย่างต้องชลอการทำงานเพราะขาดวัสดุ บางครั้งฝนตกหนักงานก่อสร้างบางส่วนคนงานต้องทำงานในน้ำต้องแช่ในน้ำโคลนน้ำเลนเกือบทั้งวัน ร่างกายสกปรกเลอะเทอะ บางครั้งขาดคนงานเพราะสถานที่ก่อสร้างกันดาร ไม่มีใครอยากอยู่ประกอบกับงานก่อสร้างที่วัดมาก คนงานเปลี่ยนไปหลายชุด โชคดีที่หัวหน้าช่างไม่เปลี่ยน เมื่อเริ่มคิดที่จะบูรณะวัดเชิงเลนนั้นไม่เคยคิดถึงเรื่องปัจจัยและวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเลยว่าจะได้มาอย่างไรและจากไหน แต่เป็นที่อัศจรรย์ว่าเมื่อเริ่มบูรณะบรรดาปัจจัยและวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างและสิ่งจำเป็นนั้น ๆ หลั่งไหลเข้ามาเหมือนกระแสน้ำ ญาติโยมจากทุกทิศทุกทางที่ได้ทราบข่าวและเรื่องราวในภายหลังต่างมีศรัทธาและร่วมบริจาคและอนุโมทนาในความมุ่งหมายดังกล่าวทุกคน แม้แต่ร้านวัสดุก่อสร้างให้วัดยังศรัทธาบริจาควัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างกุฏิ 1 หลัง สำหรับพระประธานนั้น เมื่อแรกพบซากวัดไม่ปรากฏว่ามี อยู่แต่ภายในซากโบสถ์ปรากฏพระพุทธรูปปูนปั้นเศียรขาดอยู่ 3 องค์ ซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรม สอบถามชาวบ้านทราบว่าเศียรพระถูกลอบตัดไปทั้ง 3 เศียร ในวันเวลาเดียวกัน ภายหลังลงมือบูรณะวัดไประยะหนึ่ง มีผู้นำเศียรพระห่อผ้าขาวใส่พานมาให้ลองสวมดูกับองค์เดิมใส่ได้พอดี จึงดำเนินการบูรณะพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ใหม่ การบูรณะได้ทำโดยช่างปั้นจากจังหวัดกาฬสินธุ์ สิ้นเวลา 4 เดือน จึงบูรณะเสร็จ การก่อสร้างได้ดำเนินไปด้วยดีจนสำเร็จเสร็จสิ้นประมาณเดือน มกราคม 2533 สิ้นเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน 17 วัน และได้มีพิธีถวายสิ่งปลูกสร้างเสนาสนะทั้งหมดให้แก่พระสงฆ์ไปแล้วในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2544 ในวันงานมีผู้ไปร่วมงานทั้งภิกษุสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกามากมาย จากใกล้ไกลและมาจากทุกทิศ หลังจากนั้นอีก 4 เดือน ญาติโยมได้จัดสร้างพระประธานสำเร็จ มีพิธีฉลองพระประธานในเดือนมิถุนายน 2533 ในวันงานก็ได้มีญาติโยมไปร่วมงานอย่างมากมายเช่นเดียวกับวันถวายวัด การบูรณะฟื้นฟูวัดเชิงเลนจึงเป็นอันสำเร็จสมบูรณ์ด้วยประการฉะนี้ สิ้นค่าใช้จ่ายเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 3,490,000.- บาท โดยไม่รวมวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องใช้ต่าง ๆ ในวัดซึ่งมีผู้ศรัทธาบริจาคสมทบอีกมากมาย สรุปสิ่งก่อสร้างที่ได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยถวายแก่สงฆ์ไปแล้วมีดังนี้
ในปีพรรษา 2534 มีพระจำพรรษาอยู่คงเดิมคือ พระ 5 รูป เณร 3 รูป รวม 8 รูป |
Creative Design by Administrator part Of Bangkoknoi District Office
Tel. 0 2424 8655 Email:dear_near@hotmail.com
Tel. 0 2424 8655 Email:dear_near@hotmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น